เมื่อผม(อยาก)เริ่มเขียน Blog

general Dec 16, 2020

บ่อยครั้งที่เราเห็นบทความดีๆในเว็บไซต์ เมื่ออ่านแล้ว ชอบมากๆ มันคูล เลยอยากเขียนบล็อกแบบนั้นบ้าง แล้วไม่นานก็มีคำถามต่างๆเกิดขึ้นมาในใจ เช่น

เมื่อเราอยากลองเป็น blogger ดูบ้าง มันจะเป็นยังไงนะ

จะเริ่มต้นยังไงดี ?

เราไม่เก่งอ่ะ คนอื่นเก่งกว่าตั้งเยอะ

มีหลายเจ้าเขียนเรื่องที่เราอยากเขียนไปแล้ว แล้วคนจะอ่านงานเขียนของเรามั้ย ?

หรือแม้กระทั่ง

เราจะเอาอะไรมาเขียนดี ?

เชื่อว่าหลายๆคนที่มีความรู้สึกอยากเขียนบล็อก หรืออยากจะเริ่มสร้างเรื่องราวของตัวเองให้ไปถึงสายตาของผู้อื่นผ่านการเขียนบล็อก มันคงจะมีคำถามแบบนี้เข้ามาในหัวซักครั้งนึงแหละ และหลายๆครั้ง ก็ไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง จนกลายเป็นว่า เรา ”หมดไฟ” ให้กับสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่ยังไม่ได้แม้แต่จะเริ่มต้นลงมือทำเลยด้วยซ้ำ สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรเลยและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม

การท้อแท้ไม่ใช่สิ่งผิด เพียงแต่เราต้องสุมไฟให้ตัวเองมากพอที่จะกล้าลุกขึ้นมาทำจริงๆ เมื่อคิดได้ดังนั้นก็เลยตัดสินใจเริ่มจากการเข้าเว็บไซต์มหาชนอย่าง Google ก่อนเลย ค้นหาเหตุผลของการเขียนบล็อก มันตรงๆเลยนี่แหละ เพราะไม่มีแผนอะไรในหัวเลย การค้นหาคำตอบจาก Search engine ตรงๆเลยก็เป็นสิ่งที่ไม่เลวเหมือนกัน (เพราะมันไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ละ) และจากนั้นก็ไล่อ่านบทความต่างๆอีกหลายเว็บ ตัวอย่างบทความต่างๆที่เราสนใจ ซึ่งสำหรับผมที่สนใจทางด้านแนวๆไอที Programmer หรือ Web Applications ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากบทความดีๆของเหล่า blogger ที่ทำเพจ เขียนบล็อก กันจนสำเร็จ มียอดผู้อ่านผู้ติดตามมากมาย อย่างพี่ๆ Davahoy, Nuuneoi, Somkiat, Mikkipastel, Designil และอีกหลายเว็บที่ไม่ได้กล่าวถึง มันก็ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้อยากเขียนอะไรที่คล้ายเป็นข้อคิด หรือกึ่งๆแนวทาง เอาไว้อ่านเผื่อวันหลังถ้าเราจะกลับไปหมดไฟอีกครั้ง เราจะกลับมาอ่านบทความนี้อีกครั้ง โดยสรุปออกเป็นข้อๆละกัน อ่านง่ายดี ดังนี้

Learning
https://unsplash.com/photos/1K8pIbIrhkQ

เพื่อกันลืมทุกๆเรื่องที่เคยทำมา

อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเลยเชียว ความรู้ทางด้านไอที เทคโนโลยี มีการอัพเดทตลอดเวลา บางแอพ บางเฟรมเวิร์คมีการเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกปี หรือในระยะหลังๆมานี่ มีการอัพแทบจะเป็นรายเดือนเลยทีเดียว การฝึกใช้งาน ฝึกค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เมื่อค้นพบและทำจนเสร็จแล้ว บ่อยครั้งที่ทิ้งเรื่องนั้นไว้ วันดีคืนดีนึกอยากกลับไปแก้งานที่ทำให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดก็กลับพบว่า “เอ้า วิธีใช้โปรแกรมนี้มันเริ่มต้นยังไงนะ” หรือว่า “โค้ดบรรทัดนี้มันมาได้ยังไงวะ” เรากลับไม่สามารถตอบปัญหาในสิ่งที่ตัวเองเคยทำไว้ แล้วก็ทิ้งงานนั้นให้เป็นอดีตไปตลอดกาล ซึ่งมันคงจะดีกว่า ถ้ามีการบันทึกไว้เป็บบทสรุปสำหรับอ่านอ่าน ถึงจะไม่มีใครอ่าน อย่างน้อยตัวเราในอนาคตก็จะได้กลับมาอ่านทบทวนความเข้าใจอีกครั้ง

สร้างนิสัยรักการค้นคว้า

การจะสร้างบทความซักหนึ่งเรื่อง ถ้าจะเขียนเล่าเรื่องฮาๆไปเรื่อยๆ หรือจะจริงจัง สาระมาเต็ม ยังไงก็ไม่สามารถหนีพ้นการค้นคว้าหาข้มูลไปได้ การหาแหล่งอ้างอิงหรือตัวอย่างที่มีคนทำเอาไว้ก่อนหน้ามาศึกษา ยิ่งเป็นงานเขียนที่ต้องอธิบายความรู้สร้างความเข้าใจหรือแสดงวิธีการอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ยิ่งหนีไปไม่ได้เป็นอันขาด 

การสืบค้นข้อมูลในงานด้านไอทีนั้น บ่อยครั้งที่ข้อมูลใหม่ๆเราจำเป็นจะต้องหาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ Text book ต่างๆ หรือคอร์สเรียนออนไลน์ของนักวิชาการหรือนักพัฒนา ซึ่งเกือบทั้งหมดจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำให้เราได้ฝึกภาษาอังกฤษไปในตัวด้วย

เป็น Portfolio ส่วนตัว

การทดลองฝึกเขียนโค้ด สร้างอัลกอริธึ่ม ใช้งานโปรแกรม หรือเฟรมเวิร์คต่างๆ หากเราทำได้เอง จบเอง เข้าใจเอง ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่มันคงจะดีกว่า ถ้าเราสามารถสื่อสารไปให้คนอื่นๆได้เห็นและเข้าใจด้วยว่าเราได้เรียนรู้อะไร และได้ผลลัพธ์ออกมายังไง ผ่านงานเขียนของเราเอง ดังที่พี่ Devahoy ได้เคยบอกเอาไว้ในบทความถึงเหตุผลที่ต้องเขียนบล็อกว่า 

“..ช่วงๆหลังๆ ที่ผมสมัครงาน หรือหลายๆที่ อยากให้ผมไปทำงานด้วย ส่วนมากเค้ามาอ่านบล็อก แล้วก็บอกว่า ‘จริงๆแล้ว พี่ไม่รู้หรอกว่าน้องเก่ง หรือ Expert แค่ไหน พี่รู้แค่ว่าอย่างน้อยน้องก็เคยเขียนมา’..”

เพื่อความสนุก

อันนี้เป็นความรู้สึกของผมเอง (ฮ่าๆ) ที่นึกว่าการได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจคือความสนุก ทริคส่วนตัวของผม จะใช้วิธีคล้ายๆกับ การหาคำใน dictionary ก็คือ การได้อ่านบทความที่บล็อกเกอร์ต่างๆพูดถึงเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน อ่านครั้งแรกอาจจะมึนๆ แต่ในความมึนๆนั้น เราจะได้พบกับ key ใหม่ๆ ที่เหล่าบรรดานักพัฒนาเค้าใช้กัน เช่น Cloud run, Hook, MVT ,… แล้วจากนั้น หากสนใจคำไหน ก็เอาคำเหล่านั้นไปเสิร์ชหาต่อไป (บนเว็บไซต์มหาชนเจ้าดังนั่นแหละ) และเมื่อเรามีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วมีการพูดถึงคำเหล่านั้น เราก็จะเริ่มปะติดประต่อเรื่องราวได้ง่ายมากขึ้น หลักการศึกษาแบบนี้อาจจะไม่ใช่วิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่มันช่วยให้ผมรู้สึกสนใจและไม่น่าเบื่อ หากใครเห็นว่าเข้าท่าจะเอานำไปใช้บ้าง ผมก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งเลย มีเพื่อนทำแบบเดียวกัน มันก็ดี

สรุป..

การได้ลองทำ เป็นการเรียนรู้ที่ดี ช่วยสร้างความเข้าใจได้ง่ายกว่า เพียงแค่อ่านผ่านตาไปเฉยๆ ผมไม่ได้เป็นคนที่เรียนรู้ได้ดี แต่การฝึกการถ่ายทอดสิ่งที่รู้มา จะทำให้เราเห็นการพัฒนาได้ดีขึ้น ผมเชื่อแบบนั้นนะ

Tags